ชะพลู

ชื่อสมุนไพร : ชะพลู
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Piper sarmentosum Roxb.ex Hunter
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE
ชื่ออื่นๆ : ช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ)
พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้)

สมุนไพร ชะพลู เป็นต้นไม้ที่มีขนาดเล็ก ๆ เป็นไม้เลื้อยและไม้เถา แต่ละส่วนของชะพลูจะมีลักษณะเหมือนกัน เว้นก็แต่ส่วนของลำต้น ที่อย่างหนึ่งจะเป็นเถาและอีกอย่างหนึ่งเป็นไม้เลื้อย

จะสามารถพบมากในทุก ๆ จังหวัดของประเทศไทย

ชะพลูแบบเถา ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 59 ซม. ลำต้นสีเขียว ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ คล้าย ๆ กับใบชะพลู ใบเล็กจะมีขนานอยู่ที่ 2.9 – 4.4 ซม. และมีใบกว้าง 1.5 – 2.5 ซม.

ใบชะพลูใหญ่จะมีขนาดกว้างถึง 18 ซม. และยาว 19 ซม. ก้านใบชะพลูยาวจะอยู่ที่ 1.5 – 6 ซม.

ส่วนที่สามารถนำไปใช้ได้ คือ ใบชะพลู ต้นชะพลู ลูกชะพลู (ดอก) รากชะพลู

ประโยชน์สรรพคุณของสมุนไพร ชะพลู

ส่วนใบ รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ทำให้เสมหะงวดและแห้งเข้า

ต้น รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้เสมหะในทรวงอก

ลูก (ดอก) รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้เสมหะในลำคอ

ราก รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้คูถเสมหะ ขับเสมหะให้ตกทางทวานหนัก

ในใบชะพลู 100 กรัม จะสามารถให้พลังงานกับร่างกาย 101 กิโลแคลอรี่ ประกอบไปด้วย

1. เส้นใย 4.6 กรัม
2. แคลเซียม 601 มิลลิกรัม
3. ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
4. เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม
5. วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม
6. วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม
7. ไนอาซิน 3.4 มิลลิกรัม
8. วิตามินซี 22 มิลลิกรัม
9. โปรตีน 5.4 กรัม
10. คาร์โบไฮเดรต 14.2 กรัม
11. เบต้า-แคโรทีน สูงถึง 414.45 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

วิธีใช้ตามภูมิปัญญาไทย

1. ใช้แก้เบาหวาน เอาต้นชะพลู ทั้ง 5 (ใช้ทั้งต้นตลอดจนถึงราก) 1 กำมือ พับเป็น 3 ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปราะ ใส่หม้อดินต้มกับน้ำ 3 ขัน เคี่ยวจนเหลือ 1 ขัน รับประทานครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
ได้ผลชะงัด หรือจะเอาใบชะพลูทั้งต้น และใบ 9 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ในภาชนะพร้อมด้วยน้ำ 2 แก้ว เคี่ยวจนเหลือครึ่งแก้ว รับประทานให้หมดก่อนอาหารเย็น โดยรับประทาน 15 วันต่อครั้ง
เมื่อรับประทานไปได้ 2 ครั้ง ภายใน 30 วันแล้ว ลองไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ ตรวจปัสสาวะ หากน้ำตาลปกติให้หยุด ถ้ายังมีน้ำตาลในปัสสาวะให้ต้มรับประทานต่อตามวิธีข้างต้น

2.ใช้เป็นยาแก้โรคถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ เริ่มจากให้เอาเปลือกหอยแครง 7 ฝา (นำไปเผาไฟให้เป็นขี้เถ้า) แล้วนำต้นชะพลูทั้ง 5 นำมาย่างไฟให้กรอบแล้วนำมาตำผสมให้จนละเอียดเข้ากันดี ใช้ชงกับน้ำร้อน รับประทานต่างน้ำชา
มีสรรพคุณแก้โรคถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ ได้ผลชะงัด

3.ใช้แก้ขัดเบา เอาต้นแจงทั้ง 5 หนัก 3 ตำลึง ชะพลู หนัก 3 ตำลึง แก่น ไม้สัก 3 ตำลึง ตัวยาทั้ง3 นี้ ใส่หม้อดิน กับน้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยว ให้เหลือ 1 ส่วน ใช้น้ำยารับประทาน เช้า-เย็น แก้ขัดเบาได้ผลชะงัก

4. ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงธาตุ ขับเสมหะ วิธีการโดยกินให้นำใบชะพลูมาจิ้มกับน้ำพริก หรือกะปิหลน น้ำพริกปลาป่น หรือจะนำใบชะพลูมาทำเมี่ยงคำ ทานวันละ อย่างน้อย 7 ใบ ทุกวัน จะทำให้ธาตุปกติ เจริญอาหาร ขับเสมหะได้ดี

5. แก้โรคเส้นเลือดในร่างกายแข็ง ซึ่งโรคดังกล่าวมีคนเป็นกันมาก เมื่อเป็นแล้วทำให้เลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงหัวใจและสมองมีปัญหา ก่อให้ เกิดอาการเส้นโลหิตแตกหรือหัก อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีการใช้ โดยเอา “ชะพลู” ทั้งต้นรวมราก จำนวน 3 ต้น
ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ตักดื่มครั้งละครึ่งแก้ว เช้าเย็น ดื่มจนตัวยาจืด แล้วจึงค่อยเปลี่ยนยาใหม่ ดื่มให้ครบ 15 วัน จึงหยุดกิน จากนั้นไปให้แพทย์ตรวจดูอาการ จะพบว่าอาการที่เป็นจะหายไป โดยไม่มีผลข้างเคียงใด

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ชะพลูนั้นมีประโยชน์มากเพียงใด เราก็ไม่ควรรับประทานใบชะพลูในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ หรืออาการเมาได้ และจะทำให้เกิดการของสารออกซาเลท (Oxalate)
ในร่างกายสูงขึ้นเกินพอดี และยังก่อให้เกิดสาเหตุโรคนิ่วในไตได้นะครับ

วิธีการปลูกชะพลู

ชะพลู ขยายพันธ์โดยปักชำในดินร่วนซุย รดน้ำให้ชุ่มในระยะแรก ช่วงที่ต้นกล้ายังไม่แข็งแรงนัก ตั้งไว้ที่ไม่ค่อยโดนแดดมาก รดน้ำเป็นประจำทุกวันจะทำให้ต้นชะพลูโตไว และทำให้มีใบและต้นที่สวยขึ้นด้วย

สมุนไพร จาก Thaiherbtherapy.com